วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อยากเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน..ต้องทำอย่างไร?

เกษมบัณฑิตให้ประสบการณ์ใหม่มอบทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซีย  

  โลกยุคการสื่อสารนี้ หากใครมีความสามารถพูดได้หลายภาษาย่อมได้เปรียบกว่าคนอื่น หลายคนอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ โดยการสมัครเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน เพราะเชื่อกันว่าการไปเรียนที่ต่างประเทศเป็นวิธีที่พัฒนาภาษาของตนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กับ Institute of African and Asian Studies, Moscow State University สหพันธรัฐรัสเซีย เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก โดยนักศึกษาที่ได้รับทุนดังกล่าวจะได้เรียนรู้เนื้อหา ทั้งทางวิชาการ ชุมชนปฏิบัติ และความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ เป็นระยะเวลากว่า 10 เดือน โดยคุณสมบัติของผู้ได้รับ ทุนต้องเรียนวิชาภาษารัสเซีย 1 และ 2 แล้วสอบคัดเลือก และเมื่อนักศึกษาผ่านการคัดเลือกแล้ว มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จะมอบทุนค่าลงทะเบียนเรียนฟรี พร้อมเบี้ยเลี้ยงสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดการศึกษา เรียกว่าฟรีตลอดการเดินทาง  ส่วนค่าโดยสารเครื่องบินไป - กลับระหว่างประเทศนักศึกษาเป็นรับผิดชอบเอง ทั้งนี้นักศึกษาบางคนอาจได้ทำงานพิเศษที่สถานทูตไทย ประจำประเทศรัสเซีย ซึ่งมีเงินเดือนให้ เพื่อให้การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตของนักศึกษา





โดยนักศึกษา นางสาวนัทธ์หทัย ชื่นชม (แจน) นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการโรงแรม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนการศึกษาในปีนี้ เพื่อเดินทางไปศึกษาต่อ ได้กล่าวว่า ภาษารัสเซียเป็นภาษาที่แจนมีความสนใจตั้งแต่เรียนปี 1 และเมื่อได้เข้าเรียนกับอาจารย์ปิติตุล ชวนะชิต อาจารย์สอนภาษารัสเซียที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงพยายามฝึกพูด ฝึกเขียนในชั้นเรียน และเปิดYouTube เพื่อดูคลิปวีดิโอสอนภาษารัสเซียเบื้องต้น (Say hi Russia) ซื้อหนังสือไวยากรณ์ภาษารัสเซียมาอ่าน จนปลายเทอมที่มหาวิทยาลัย ได้จัดทดสอบ ปรากฏว่า คะแนนของแจนอยู่ในเกณฑ์จึงได้รับโอกาสดีๆ จากมหาวิทยาลัยให้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซีย  โดยการเดินทางครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ และรู้สึกว่าโชคดีที่มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในสาขาที่กำลังเรียนด้านการจัดการโรงแรม ดังนั้นภาษาจึงมีความสำคัญมาก ถ้าเรามีความสามารถสื่อสารได้เพิ่มขึ้นอีก 1 ภาษา น่าจะช่วยให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตมากขึ้นค่ะ     


จากซ้ายชื่อนัทธ์หทัย ชื่นชม ชื่ออาภาภรณ์ เอี่ยนเหล็ง โสธิดา ยังสบาย 
ด้านนางสาวโสธิดา ยังสบาย (เอ๋ย) นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการจัดการโรงแรม กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวว่ามหาวิทยาลัยจะมีทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อประเทศรัสเซีย ในMoscow State University ทำให้มีแรงผลักดันในใจค่ะ เพราะเราอยากไปต่างประเทศอยู่แล้วจึงตั้งใจมากๆ ที่จะสอบชิงทุนครั้งนี้ ตั้งใจเรียนวิชาภาษารัสเซีย พยายามจดจำและรวบรวมสิ่งที่อาจารย์สอน ฝึกพูด ฝึกอ่าน ฝึกเขียนบ่อยๆ ทำทุกๆ วันตลอดเทอม เมื่อถึงวันประกาศผล ยอมรับว่าตื่นเต้นมาก และดีใจที่ทำสำเร็จได้รับทุนครั้งนี้  และช่วงนี้ก่อนเดินทางต้องเตรียมตัวให้พร้อม ค้นหาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวของรัสเซีย ฯลฯ  เพราะระยะเวลา 10 เดือนที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศนั้น จะเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ ให้มากที่สุด 


นางสาวอาภาภรณ์  เอี่ยนเหล็ง (ฝัน) นักศึกษาจากสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน สาขาวิชาธุรกิจการบิน ได้เล่าว่า ทราบข่าวการสอบชิงทุน จากอาจารย์และเพื่อนที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้ ประกอบกับตนเองมีความสนใจภาษารัสเซียเป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจเลือกเรียนวิชาภาษารัสเซีย พยายามตั้งใจเรียน มั่นฝึกพูด อ่าน เขียน ตลอดจน ทำให้ผลคะแนนออกมาดี และทราบว่าได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยรู้สึกตื่นเต้น ดีใจมาก ที่ได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้ และตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างประเทศให้มากที่สุด


สำหรับนักศึกษาที่ได้รับทุนเมื่อปีที่แล้ว ได้เดินทางกลับมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของชีวิตการเรียนในต่างแดน ณ ประเทศรัสเซียโดย



นายวิจัย กอเดช  (คิว) นักศึกษาจากสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน สาขาวิชาธุรกิจการบิน เล่าว่า ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตที่ให้โอกาสผมได้มีประสบ การณ์ดีๆ ครั้งนี้ ผมมีความสุขตลอดเวลาที่อยู่รัสเซีย ได้พบเพื่อนที่ดีเพื่อนรัสเซีย และจากประเทศอื่นๆ ด้วย  ได้เรียนรู้การสื่อสารและการใช้ภาษารัสเซีย    มากขึ้น เข้าใจวัฒนธรรม ที่แตกต่างกับประเทศไทย และรู้จักการปรับตัว การใช้ชีวิตในต่างแดน มีโอกาสท่องเที่ยวเมืองใหญ่ๆ ของรัสเซีย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และสวยงามมาก จึงอยากบอกเพื่อนๆ ที่กำลัง ยังไม่รู้จักภาษารัสเซียว่า ภาษารัสเซียนั้นเป็นภาษาที่มีเสน่ห์ ไม่แพ้ภาษาอื่นของโลก  อยากคิดว่ามันยาก หรือไม่กล้าพูด ขอให้ลองเปิดใจเข้ามาเรียนแล้วเชื่อว่าจะตกหลุมรักทักที  ถ้าน้องๆ ฝึกฝนและพยายามมุ่งมั่น สามารถทำคะแนนเข้าเกณฑ์ก็สามารถชิงทุนเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนได้เหมือนกันครับ ขอให้ทุกคนโชคดีและได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบผมนะครับ


นายรชตณัฏฐ์   จิรกิตติปกรณ์ (ตั้ง) นักศึกษาจากสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน สาขาวิชาธุรกิจการบิน เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า ผมได้รับความรู้ใหม่ๆ และประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมในการศึกษาที่รัสเซีย  ผมรู้สึกว่าประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมเติบโตมากขึ้น เพราะสิ่งที่ได้รับ ไม่ใช่เพียงความรู้ หรือภาษา เท่านั้น แต่รวมถึงถึงการใช้ชีวิต เราได้สัมผัสวิถีความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณีบ้านเมืองของเขา  ซึ่งจุดนี้เราเท่านั้นที่จะสามารถสัมผัสมันได้ ด้วยตัวเอง ไม่ได้สัมผัสจากคนอื่นเล่าให้ฟัง หรือจากการอ่านจากหนังสือแต่เราได้สัมผัสจากของจริง ผู้คนจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ายิ่งครับสำหรับผู้สนใจโครงการศึกษาแลกเปลี่ยน ไทย-รัสเซีย ผมอยากฝากว่าเราอย่ากลัวในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ขอแค่ให้เราได้ทดลองทำ แล้วเชื่อเถอะครับว่าชีวิตเรา จะไม่เหมือนเดิม ขอให้ทุกท่านได้ลองตัดสินใจนะครับ




นางสาวชลดา สดสอาด (มินนี่) นักศึกษาจากสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน  สาขาวิชาธุรกิจการบิน  กล่าวว่า การไปศึกษาต่อครั้งนี้ เปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับชีวิต ได้เรียนรู้ทั้งภาษา วัฒนธรรมและประวัติ- ศาสตร์  ซึ่งมีประโยชน์มาก เพราะเราได้เข้าไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับสิ่งเหล่านั้น อย่างจริงจัง ทำให้ช่วยเรื่องการสื่อสารได้เข้าใจเร็วขึ้น อีกทั้งยังได้ท่องเที่ยว และเรียน รู้จักผู้คนพื้นเมือง มีเพื่อนๆรัสเซีย และ อาจารย์ที่ดูแลเราเสมือนสมาชิกในครอบครัว การได้ไปศึกษาที่รัสเซีย คือประสบการณ์ที่น่าประทับใจครั้งหนึ่งของชีวิต อยากให้เพื่อนๆ ได้ลองสัมผัสประสบการณ์แบบนี้บ้าง แล้วเพื่อนๆ จะได้อะไรมากกว่าที่คิดแน่นอนค่ะ














ด้านดร.พนิดา  ชื่นชม คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ผู้รับผิดชอบและดูแลโครงการนักศึกษาทุนแลกเปลี่ยน Institute of African and Asian Studies, Moscow State University สหพันธรัฐรัสเซีย ได้กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการสนับสนุนและกระตุ้นให้นักศึกษาหันมาสนใจภาษารัสเซียมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในประเทศไทยและทั่วโลกมีผู้ที่สามารถสื่อสารภาษารัสเซียได้น้อยมาก ในขณะที่ความต้องการจากทั่วโลกที่จำเป็นต้องใช้ผู้มีความสามารถด้านภาษารัสเซียมีจำนวนมาก  สำหรับประเทศไทยเอง ด้านการท่องเที่ยวก็มีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเป็นจำนวนมากที่เข้ามาเที่ยวที่เมืองไทย ก็ขาดแคลนบุคลากรด้านภาษารัสเซียมากเช่นกัน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมนักศึกษาให้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ในต่างประเทศ และสามารถนำประสบการณ์นี้มาถ่ายทอดให้น้องๆ ในรุ่นต่อๆ ไปด้วย อยากฝากกับนักศึกษาทุกท่านว่าความรู้นอกจากในตำราเรียนแล้วยังสามารถค้นหาได้จากประสบการณ์อีกด้วย การเดินทางไปต่างประเทศในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนจะเป็นโอกาสที่ได้รับสิ่งใหม่ๆ และมีคุณค่าเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ จะเป็นรากฐานให้นักศึกษาในการสร้างอนาคตของตนเองอีกด้วย 


อยากได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด สามารถสอบถามได้ที่ สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร อาคารเกษมนครา ชั้น 2 หรือ อาจารย์ปิติตุล ชวนะชิต โทร.02-904-2222 ต่อ 2209 หรือ Line ID: meeh1980 


เกษมบัณฑิตนำธงพหุวัฒนธรรม ซึมซับเยาวชนจากเหนือถึงใต้


การยอมรับความแตกต่างกันของคนในสังคม จะช่วยให้สังคมมีความสุขขึ้น และช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืนหลักการนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต นำเป็นโจทย์ในการสร้างกิจกรรมที่จะแก้ปัญหานี้ โดยศึกษาจากประวัติศาสตร์ในอดีตของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรม ที่ชุมชนยอบรับความแตกต่าง และจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิด  “โครงการค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม ปี 2559” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งมีแนวทางที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยบนพื้นฐานความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกัน 





อ.ชนะ  กร่ำกระโทก อาจารย์ประจำศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ผู้ดูแลโครงการนี้จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตได้เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจาก ข่าวคราวความไม่สงบในภาคใต้ จึงทำให้คณะทำงานได้ปรึกษากันว่า เยาวชนนั้นน่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการดำเนินชีวิตว่า อยู่อย่างแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก และมีความสุขในสังคมนั้น ควรเริ่มต้นจากอะไรบ้าง ซึ่งขณะนั้นสกอ. มีแนวคิดที่ตรงกัน จึงสร้างกิจกรรมในลักษณะค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้นักศึกษาที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวม กว่า 100 คน ได้มีโอการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิด  โดยเราได้พานักศึกษาลงพื้นที่จริงศึกษาถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนในอดีต อาทิ การจัดการความขัดแย้ง ในสังคมพหุลักษณ์ สังคมพหุวัฒนธรรมด้วยสันติวิธี และธรรมาภิบาล   ที่มัสยิดวัดท่าการ้อง ชุมชนกุฎีจีน (โบส์ซางตา ครู้ส) หรือ ทัศนศึกษาชุมชนวัดประยูร (วัดประยุรวงศาวาส) เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจอย่างถูกต้อง และเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตรับเป็นผู้จัดการโครงการต่อเนื่องมากว่า 5 ปี 




นายรอยยาน  ซีนา   จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี  จังหวัดปัตตานี นับถือศาสนาอิสลามหนึ่งในตัวแทนผู้เข้าร่วมค่ายเล่าให้ฟังว่า จากเดิมผมรักในหลวงอยู่แล้ว การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้รักในหลวงมากขึ้น ได้เข้าใจลึกซึ้งว่าตลอดหลายปีที่ท่านครองราชย์ได้ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประชาชนทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตทรงทุ่มเท อุทิศตนเพื่อรักษาชาติ บ้านเมืองทำให้เราเป็นไทยได้ในทุกวันนี้ ในประวัติศาสตร์ทหารหาญที่ร่วมกันรักษาประเทศมีหลายท่านที่มาจากต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา มีความรักและอยู่อาศัยบนแผ่นดินไทยสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน จนเป็นต้นกำเนิดของบรรพบุรุษต่างๆ  ความเสียสละที่เกิดขึ้นทำให้เรากล้าพูดได้ว่าภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย บนแผ่นดินไทย
การร่วมกิจกรรมค่ายครั้งนี้ ทำให้เข้าใจในความคิดทุกศาสนาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถ้าเราเข้าใจแก่นแท้ของทุกศาสนาจากผู้รู้ ผู้ปฏิบัติในศาสนานั้นๆ ที่ทุกคำสอนของทุกศาสนามุ่งให้คนเป็นคนดี ซึ่งเป็นจุดสำคัญให้เราเปลี่ยนความความคิดที่ไม่ดีต่อกันเปลี่ยนความคิดว่าเราทุกศาสนาสามารถเข้ากันได้ อยู่ร่วมกันได้ เริ่มจากตัวเอง ขยายไปที่เพื่อนเรา ไปเพื่อนบ้านเราจนถึงชุมชน และสังคมเรา เหมือนในอดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน แม้ต่างศาสนากัน สังคมเกิดความสามัคคี และดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ แต่น่าเสียดายที่สังคมปัจจุบัน ขาดความสามัคคี ขาดความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน การให้เกียรติกันถ้าสังคมปัจจุบันได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตของคนในอดีตอย่างลึกซึ้ง สังคมจะน่าอยู่มากขึ้นแน่นอนสุดท้ายนี้ การร่วมกิจกรรมจากพี่ น้องที่มาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน รอยยิ้มจากการต้อนรับที่อบอุ่นจากอาจารย์ และพี่ๆทีมงาน ทำให้เกิดมิตรภาพมากขึ้นกิจกรรมหลายๆ อย่างทำให้เห็นถึงความเสียสละ ความทุ่มเท ในการทำงาน ผมจึงรู้สึกสบายใจที่ได้ร่วมกิจกรรม แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน 


นางสาวอำไพ โชคชัยพรนิภา จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ นับถือศาสนาคริสต์ ได้กล่าวว่า ตนเองเคยเข้ารวมค่ายประเภทต่างๆมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ มีความแปลกใหม่ ที่เพื่อนๆ มาอยู่ร่วมกันนั้นมาจากการนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน แต่เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีความอบอุ่นของพี่น้องต่างสถาบัน ซึ่งนับเป็นการสร้างประสบ- การณ์ที่ดี นอกจากนี้ยังได้รู้ว่า แม้เพื่อนจะไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกัน แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะมีใจศรัทธาในสิ่งเดียวกัน มีความช่วยเหลือกันก็ทำให้สังคมเกิดความสุขได้  





นายวรเชรฐ์   มูฮัมหมัดสอี๊ด (วร) จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  กรุงเทพฯ ศาสนาอิสลาม กล่าวว่า ค่ายนี้ให้ความสนุกและสอดแทรกความรู้เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างได้อย่างมีความสุข พยายามให้พวกเรารุ่นใหม่เข้าใจว่า ความแตกต่างไม่ได้เป็นสิ่งแปลกในสังคม เพราะในอดีตสังคมไทยก็มีความแตกต่างกันในทุกๆด้าน แต่พวกเราก็เป็นชาติเดียวกัน เป็นคนไทยเหมือนกันหลายๆ กิจกรรมช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผมโดยเฉพาะ การทำงานร่วมกันกับเพื่อนที่มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้ กิจกรรมช่วยสร้างมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีให้กับพวกเราและเกิดสร้างแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้ทำงานต่างๆสำเร็จยิ่งขึ้น กิจกรรมที่ได้เข้าร่วมครั้งนี้ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมการเป็นอยู่ร่วมกันของคนในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่หลากหลาย มีหลักปฏิบัติตนของศาสนา ทั้ง 3 ศาสนา ได้เยี่ยมชม เรียนรู้ประวัติของสถานที่สำคัญ ซึ่งความรู้ที่ได้ครั้งนี้ จะนำไปบอกต่อให้กับเพื่อนๆ และรุ่นน้องๆ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของแต่ละศาสนา การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน เป็นตัวอย่างที่ดีที่วิถีในอดีตได้ปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่างแล้วประสบความสำเร็จด้วย โดยใช้ความรักและความสามัคคีของคนในชาติ เป็นจุดหลักของการดำเนินชีวิต





          นางสาวมาเรียม  กุลามาหมัด  จากวิทยาลัยชุมชนสงขลา  จังหวัดสงขลา    นับถือศาสนาอิสลาม กล่าวถึงความประทับใจว่า ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับเพื่อนที่เริ่มต้นไม่รู้จักกัน ช่วงแรกกังวลมากว่าเราจะเข้ากับเพื่อนๆ ได้หรือไม่ เพราะ ทุกคนมาจากต่างที่ ต่างศาสนา ต่างความเชื่อกัน แต่ระยะเวลา 2-3 วันนี้ เพื่อนๆทุกคนล้วนเปิดใจ ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติและเป็นมิตร ทำให้สบายใจขึ้น แม้ว่าบางกิจกรรมจะ เหนื่อย ร้อน แต่เราก็เรียนรู้ได้ว่า ถ้าเราช่วยเหลือกัน และวางอคติในใจลง ไม่มองแต่แง่ร้ายของคนอื่นก็จะทำให้เรามีความสุข เรื่องที่หนัก หรือยากก็จะประสบความสำเร็จ ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ การได้เยี่ยมชมสถานที่ในประวัติศาสตร์การเรียนรู้ในวิถีชุมชนที่อยู่ร่วมกันบนความแตกต่างใน 3 ศาสนาคือ พุทธ คริสต์ อิสลาม  แต่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ที่น่าสนใจคือ การดำเนินชีวิตบนวิถีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ทุกชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะมีความเป็นหนึ่งเดียวกันและมีความรักในสิ่งเดียวกัน พวกเรารักในหลวงเหมือนกัน ยิ่งการได้เรียนรู้ถึงการทรงงานของพระองค์ท่าน ยิ่งทำให้ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย และรักในหลวงมากขึ้น และเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข เป็นสิ่งที่จะทำให้พระองค์ท่านสบายพระราชหฤทัยมากขึ้น   สังคมเองก็มีความสุขตามไปด้วยนอกจากนี้ กิจกรรมนี้ทำให้เรารู้จักหน้าที่ของคนไทย คือการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินแห่งนี้ตามหน้าที่ของเรา เพราะประวัติศาสตร์ที่ได้เรียนรู้ครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจเรื่องความเสียสละ ความอดทน ความรักชาติ ของบรรพบุรุษได้ทำหน้าที่เสียสละเพื่อบ้านเมืองอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเรามีความสามัคคีกัน ทุกๆ ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ถ้าคนไทยรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ประเทศไทยจะมีความสงบจนถึงปัจจุบันนี้ ล้วนมาจากการใช้วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันในความแตกต่างทางศาสนา ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ใน 3 จังหวัดชายแดน บางครั้งความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอาจทำให้เรามีปัญหาในการอยู่ร่วมกันในเรื่องเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่การเรียนรู้ในโครงการนี้ได้ชี้ให้เข้าใจถึงหลักการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันทำให้อยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เรามีหน้าที่ส่งต่อความรู้นี้ต่อไปยังเด็กๆในรุ่นต่อๆ ไปด้วย









วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

จุดพลังไอเดีย..เรียนแบบไหน?.. ให้ก้าวสู่ วงการดีไซน์เนอร์..


“คิด ขยาย มุ่งมั่น ร่วมมือ สำรวจ ท้าทาย สร้าง” เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ฉวยโอกาสให้เราใช้พลังไอเดียที่เกิดจากการคิดสร้างสรรค์ แล้วมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างผลงานให้ “โดดเด้ง..เด่น..โดน” จึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ ทุกสายอาชีพจะนำคาถาบทข้างต้นนำทางไปสู่ผลลัพธ์ที่เราคาดหวังไว้    
      
วันนี้มีโอกาสพบอาจารย์ที่คร่ำหวอดในวงการแฟชั่น อย่างดร.วรากร เพ็ญศรีนุกูร หรือ ดร.ต้น อาจารย์ประจำ FD School of Fashion Design คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต นอกจากเป็นอาจารย์แล้วดร.ต้น ยังเป็นเจ้าของร้าน b r o (โบร) ที่รับบริการออกแบบเสื้อผ้าผู้ชาย เช่น สูท เสื้อเชิ้ต กางเกง ใครอยากมีสูทเท่ๆ ไว้ออกเดทกับสาวๆ หรือหนุ่มๆ (อิ..อิ) สามารถไปอุดหนุนกันได้ที่ สยามสแควร์ ซอย 2  





จากประสบการณ์ที่ได้สร้างสมมามากมาย ทำให้ ดร.ต้น ตัดสินใจเข้าร่วมประกวด Creative Textile Awards 2016 เวทีประกวดผลิตภัณฑ์สิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ จนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักดีไซน์เนอร์ไทย ไปร่วมแข่งขันการออกแบบระดับโลก SDC International Design Competition 2016 ที่ประเทศฮ่องกง  

   





      ผลงานการออกแบบที่ดร.ต้น เข้าประกวดชื่อชุด The Black Magic 'THAI BLACK MAGIC' - ไทย มนต์ ดำ ดีไซน์ล้ำที่มีแนวคิดและแรงบันดาลจากไสยศาสตร์ มิติลึกลับ มนต์ดำต่างๆ สิ่งลี้ลับที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยจนไม่สามารถแยกออกได้แฝงด้วยปรัชญาทางพระพุทธศาสนา เรื่องเกี่ยวกับกาลามสูตร ที่สอนให้เชื่อด้วยการใช้ปัญญา พิจารณาให้เห็นถึงสิ่งที่ดี และไม่ดี สิ่งที่เป็นคุณหรือเป็นโทษก่อนที่จะเชื่อในเรื่องนั้นๆ จึงเป็นการนำปริศนาธรรมที่เกี่ยวข้องกับความงมงายของคน มาตีแผ่ถ่ายทอดเป็นแรงบันดาลใจในผลงานชุดนี้




 

     

  และจากประสบการณ์นี้เอง ดร.ต้น นำมาจุดประกายให้นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีไอเดียในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน โดยแรงบันดาลใจหาได้รอบๆ ตัว ล้วนถือเป็นความสวยอีกแบบที่เราสามารถนำมาสร้างเป็นผลงานศิลปะได้


เตรียมตัวเรียนแฟชั่นอย่างไร?


        หากจะเป็นนักออกแบบแฟชั่น (Fashion Designer) ได้ อันดับแรกต้องถามใจตนเองว่า เราชอบจริงๆ ไหม  ถ้ามีความสนใจแล้ว ก็ลองเปิด magazine หรือศึกษาเกี่ยวกับสไตล์และเทรนด์ของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในแวดวงแฟชั่น โดยเฉพาะเมืองที่เป็นผู้นำโลกแฟชั่นอย่าง ลอนดอน ปารีส มิลาน และนิวยอร์ก ที่ได้รับการขนานนามว่า เมืองหลวงแห่งแฟชั่นของโลก เพื่อให้รู้ว่ากระแสในแวดวงแฟชั่น 

เมื่อเราเริ่มคลุกคลีมามากในระดับหนึ่งแล้ว  เราต้องเริ่มต้นฝึกฝนการวาดภาพ ร่างเป็นลายเส้น  วาดสวยหรือไม่ ไม่ต้องหนักใจ ขอให้วาดไปเรื่อยๆ เริ่มจากง่ายๆ เมื่อมือเราจะเริ่มชิน  เราไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวย ขอเพียงวาดให้รู้ว่าแบบที่เราต้องการสื่อเป็นอย่างไร และให้สามารถสื่อสารกับลูกค้า หรืออธิบายงานตัดเย็บให้กับช่างเสื้อได้ นักดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงหลายคน วาดรูปไม่สวยมีไม่น้อย  แต่ก็สามารถอธิบายงานและสร้างสรรค์ผลงานเก๋ ไก๋ เป็นที่ยอมรับของวงการมากมาย ปัจจุบันผู้ที่สนใจจะเรียนแฟชั่น จะมีความเข้าใจผิดๆ ว่าเข้ามาเรียนไม่ได้  เพราะวาดรูปไม่เป็น ลงสีไม่เป็น ก็ตัดสินใจทิ้งความชอบและพรสวรรค์ของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย  เพียงเพราะกลัวการวาดภาพ หรือเพราะวาดภาพไม่สวยเท่านั้น






เรียนแฟชั่น..เรียนอะไรบ้าง?


     เสน่ห์ของการเรียนออกแบบแฟชั่นที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตนั้น  ผู้เรียนได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบสิ่งทอเสื้อผ้า เนื้อผ้า หรือลายผ้า การนำเสนอผลงาน การเลือกใช้วัสดุ เทคโนโลยีในการผลิต ตลอดจนกลยุทธ์การขายสินค้าของตนเองให้สำเร็จ  เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็พร้อมที่จะไปประกอบอาชีพของตนเองได้  ในปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่น คือการผลิตสินค้าที่ทันสมัย ตอบรับรสนิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม ลดต้นทุนการผลิตด้วยการผลิตครั้งละมากๆ และขายในราคามาตรฐาน ซึ่งการผลิตสินค้าในลักษณะดังกล่าว เป็นงานที่บัณฑิตส่วนใหญ่นิยมทำกันเมื่อจบการศึกษา





ติดต่อเรียน สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โทร.02-320-2777, 02-904-2222